Monday, December 10, 2007

oOH!!>SAKURA<


เที่ยวงานเทศกาลซากุระบานแดนอาทิตย์อุทัย
ุั
เดือนเมษายนของประเทศญี่ปุ่น เป็นฤดูชมดอกไม้ซึ่งเรียกว่า "โอฮานามิ" (ohanami)โอฮานามิ เป็นประเพณีชมดอกซากุระ เป็นประเพณีของฤดูใบไม้ผลิซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ พอถึงช่วงโอฮานามิ ผู้คนจะรับรู้ข่าวคราวได้ว่าซากุระบานหรือยัง ที่ไหน เมื่อไร โดยติดตามข่าวพยากรณ์
อากาศทางโทรทัศน์ทุกวัน พอดอกซากุระบาน ผู้คนก็จะจัดอาหารกล่องบ้าง เหล้าบ้าง ไปเลี้ยงสังสรรค์ดื่มกินกัน และ เดินเล่นใต้ต้นซากุระ ตามสถานที่ที่มีชื่อเสียงในเรื่องดอกซากุระ นอกจากนั้นยังมีประเพณี "โยซากุระ" คือประเพณีชมซากุระยามค่ำ ผู้คนจะร้องรำทำเพลงใต้ต้นซากุระกันเป็นที่ครึกครื้นจนถึงดึก เป็นภาพที่งดงามมากเวลาที่ผู้คนนั่งใต้ต้น ซากุระ และสีชมพู ละลานตาเต็มพื้น ชวนให้น่าไปเยี่ยมชม แดนอาทิตย์อุทัยจริงๆ

Monday, November 19, 2007

วัฒนธรรมการทานอาหารของญี่ปุ่น


วิถีการรับประทานอาหารของชาวญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่นจะรับประทานอาหารกันวันละ 3 มื้อ คือ เช้า กลางวัน เย็น และให้คามสำคัญกับอาหารมื้อเย็นมากที่สุด ในสมัยก่อนสงครามครอบครัวชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารญี่ปุ่นเป็นหลักโดยมีข้าวเป็นอาหารหลักและมีปลา ผัก ฯลฯ เป็นกับข้าว ควบคู่ไปกับ ซุปเต้าเจี้ยว กับผักดองต่าง ๆ แต่ตั้งแต่หลังสงครามเป็นต้นมา เนื่องจากอิทธิพลของโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ทำให้มีการรับประทานขนมปัง เนื้อชนิดต่าง ๆ ไข่ และผลิตภัณฑ์นมกันมากขึ้น การรับประทานอาหารมีความหลากหลายมากขึ้น ตามสภาพความเจริญทางเศรษฐกิจ ครอบครัวชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่เฉพาะแต่อาหารญี่ปุ่นเท่านั้น ยังรับประทานอาหารของชาติต่าง ๆ กันเป็นเรื่องธรรมดาไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งไม่ต้องใช้เวลานานในการปรุงก็มีอยู่มากมายด้วย ถ้าเข้าไปในเมือง จะพบว่าสามารถหาอาหารของชาติต่าง ๆ รับประทานได้ตามใจชอบ ตั้งแต่อาหารญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น สุชิ เท็มปุระ โซบะ อุด้ง ฯลฯ หรืออาหารจีน ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน รัสเซีย อินเดีย ไทย เวียดนาม ฯลฯ หรืออาหารจานด่วน ประเภทไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ ฯลฯ ก็มีวิถีการรับประทานอาหารที่มีมาแต่ดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น คือ การรับประทานอาหารหลักควบคู่กับกับข้าว อาหารหลักคือข้าว ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นข้าวธรรมดา หุงกับน้ำ กล่าวกันว่า ประวัติศาสตร์การบริโภคข้าวของชาวญี่ปุ่นยาวนานมาก ตั้งแต่สมัยยะโยอิเป็นต้นมา แต่การรับประทานข้าวแบบปัจจุบันนั้นเริ่มขึ้นในสมัยเฮอันสำหรับกับข้าวนั้น จะเห็นได้ว่ามีมากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ผลิตภัณฑ์นม อาหารทะเลต่าง ๆ แต่ในสมัยก่อน การที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเลทั้ง 4 ด้าน ทำให้รับประทานอาหารทะเลกันเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่จำเป็นต่อร่างกาย วิธีการทำอาหารทะเลนั้นมีหลายวิธี ทั้งปิ้ง ย่าง ต้ม นึ่ง เป็นต้น ในบรรดาเหล่านั้นอาหารประเภท “ สะชิมิ ” ที่ใช้มีดหั่นอาหารทะเลเป็นชิ้น ๆ แล้วนำมารับประทานกันสด ๆ ถือเป็นอาหารพิเศษเฉพาะของญี่ปุ่น อาหารประเภทเนื้อก็รับประทานกันมานานเช่นกัน แต่เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาพุทธที่ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ ทำให้ต้องพึ่งอาหารทะเลกันเช่นเดิม
นอกเหนือจากอาหารทะเลแล้ว ที่บริโภคกันมากรองลงมาก็คือผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ตัวอย่างเช่น อะบุระเงะ (abura-age : เต้าหู้ทอด) ถั่วหมัก (natto) เป็นต้น อาหารประเภทถั่วเหลืองเหล่านี้เป็นแหล่ง โปรตีนจากพืชที่มีคุณค่าสูงมากซึ่งขนาดไม่ได้เลยในอาหารญี่ปุ่น นอกจากนี้ก็ยังนิยมนำผักมาปรุงมากเช่นกัน จะเห็นได้ว่าอาหารประเภทผักก็มามกมาย เช่น อาหารต้ม อาหารคลุกเต้าเจี้ยวหรืองา (aemono) อาหารคลุกน้ำส้ม โอะฮิทะชิ (ohitashi) เป็นต้นโชยุ ราชาแห่งเครื่องปรุงรส เมื่อพูดถึงอาหารญี่ปุ่น สิ่งที่จะลืมไม่ได้มากยิ่งกว่าข้าวและกับข้าว ก็คือโชยุกับเต้าเจี้ยวซึ่งเป็นเครื่องปรุงรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งโชยุนั้น ถึงกับเรียกกันว่าเป็น “ ราชา แห่งเครื่องปรุงรส ” เลยทีเดียว เนื่องจากใช้ปรุงอาหารได้แทบทุกประเภท ทั้งใช้ใส่ในอาหาร และเป็นน้ำจิ้ม นอกจากนั้น โชยุยังมีบทบามอย่างมากในการพัฒนาอาหารญี่ปุ่นมาจนกระทั่งบัดนี้ ถ้าจะว่าไปแล้วที่เมืองจีนก็มีซีอิ๊วแบบจีน หรือแถบประเทศตะวันออกเฉียงใต้ก็มีน้ำปลาเช่นเดียวกัน แต่กลิ่นและรสชาติจะแตกต่างกับโชยุของญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ส่วนเต้าเจี้ยวนัน ความสำคัญอาจน้อยกว่าโชยุ แต่ก็มีบทบาทอย่างมากในการปรุง ซุปเต้าเจี้ยว อาหารย่าง หรือ อาหารประเภทคลุก เป็นต้น

KING OF THE KINGS



พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐา คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จาก
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึงสองพรรษา และเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มองต์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ชืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จาก ยิมนาส กลาชีค กังโดนาล แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์
ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ และได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในพุทธ>ศักราช ๒๔๘๑ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๘ จึงโดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม
ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ และในพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่าพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นทรงย้ายที่ประทับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ คือ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ ในพุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวช ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ประชาชนของพระองค์เลื่อมใสกันอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งทรงมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ก็ทรงมีพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะได้ประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า ธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยเหตุผลและสัจจธรรม แม้ผู้ใดจะวิจารณ์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่เสื่อมถอยในความนิยมเชื่อถือ ทั้งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมอีกโสตหนึ่งด้วย จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เสร็จการพระราชพิธีทรงผนวชแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนั้นเอง และในพุทธศักราช ๒๕๐๐ ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงปัจจุบัน

ที่มา http://kanchanapisek.or.th/biography/index.th.html